คำชี้แจงของสวนสันติธรรมฉบับที่ ๑๐
เรื่องข้อกล่าวหาว่าหลวงพ่อปราโมทย์บิดเบือนคำสอนของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล
เรื่องใหญ่ที่บุคคลบางกลุ่มหยิบยกขึ้นมาโจมตีหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช คือเรื่องที่กล่าวหาว่าหลวงพ่อปราโมทย์บิดเบือนดูหมิ่นคำสอนของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล ด้วยการเขียนหนังสือ "แก่นธรรมคำสอนของหลวงปู่ดูลย์"
เรื่องนี้มีข้อเท็จจริงดังนี้คือ
๑. ความเป็นมาของหนังสือ ตั้งแต่ปี ๒๕๕๑ หลวงพ่อปราโมทย์พิจารณาเห็นว่า การดูจิตเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางและขยายตัวอย่างรวดเร็วในหมู่ชนทุกเหล่า แม้เป็นเรื่องน่ายินดีที่ผู้คนซึ่งไม่เคยสนใจธรรมะได้เกิดความสนใจธรรมะขึ้น แต่ก็มีประเด็นที่น่าเป็นห่วง คือการดูจิตเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก โอกาสที่จะปฏิบัติผิดพลาดจึงมีอยู่ในหลายจุด จึงสมควรหยิบยกคำสอนเกี่ยวกับการดูจิตของหลวงปู่ดูลย์มาชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้สนใจ ในฐานะที่หลวงปู่เป็นครูบาอาจารย์ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น "ต้นตำหรับการดูจิต"
๒. ข้อจำกัดของการเขียน หลวงพ่อปราโมทย์ตระหนักดีว่า หลวงปู่ดูลย์เป็นครูบาอาจารย์ที่มีภูมิรู้สูงอย่างยิ่ง ไม่มีทางที่ศิษย์จะอธิบายคำสอนของท่านให้ถูกถ้วนได้ทั้งหมด และหลวงปู่สอนศิษย์แต่ละองค์/แต่ละคน แตกต่างกันตามวาสนาบารมี จึงเป็นการยากที่จะชี้ว่าความเข้าใจของศิษย์ผู้ใดถูกมากกว่ากัน ด้วยเหตุนี้หลวงพ่อปราโมทย์จึงประกาศไว้อย่างชัดเจนว่า "เรื่องที่จะเขียนนี้เป็นความเข้าใจของศิษย์คนหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้ผูกขาดว่าคำสอนที่แท้จริงของหลวงปู่ดูลย์ จะต้องเป็นไปตามความเข้าใจของหลวงพ่อปราโมทย์แต่เพียงผู้เดียว"
๓. ขอบเขตของเรื่องที่จะอธิบาย หลวงปู่ดูลย์มีธรรมเทศนาที่ใช้ประจำอยู่ ๒ ชุด คือ (๑) อริยสัจแห่งจิต และ (๒) จิตคือพุทธะ ซึ่งหลวงพ่อปราโมทย์พิจารณาเห็นว่าถ้าผู้ปฏิบัติเข้าใจเรื่องอริยสัจแห่งจิตได้ ก็จะเป็นประโยชน์สำหรับการปฏิบัติมาก เพราะอริยสัจเป็นธรรมที่ครอบคลุมธรรมทั้งปวง และมีคัมภีร์ฝ่ายเถรวาทรองรับ ในขณะที่เรื่องจิตคือพุทธะ ซึ่งอธิบายถึง "จิตหนึ่ง" ที่คนทั้งหลายยังไม่สามารถรู้เห็นได้ในขณะนี้ และไม่พบในคัมภีร์ฝ่ายเถรวาท แม้นำมาอธิบายก็ไม่อาจยืนยันได้ว่าถูกต้องหรือไม่ ("จิตคือพุทธะ" เป็นส่วนหนึ่งในคำสอนของ ฮวงโป ซึ่งท่านอาจารย์พุทธทาสได้แปลไว้ แล้วหลวงปู่ยืมถ้อยคำนั้นมาใช้)
๔. อริยสัจแห่งจิตลงกันได้กับคำสอนของพระพุทธเจ้า ทั้งในส่วนของทุกข์ นิโรธ และมรรค แต่ในส่วนของสมุทัยอันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์นั้น มีถ้อยคำเรียบเรียงไว้ว่า "จิตที่ส่งออกนอกเป็นสมุทัย" แสดงถึงสภาวะที่แตกต่างจากคำสอนของหลวงปู่เอง คือไปเน้นความสำคัญที่ "จิต" แต่ในขณะเมื่อหลวงปู่สอนศิษย์ตัวต่อตัว ท่านกลับสอนว่า "อย่าส่งจิตออกนอก" คือเน้นความสำคัญไปที่ "ส่ง" ซึ่งสภาวะจะตรงกับ "ตัณหา" หรือความทะยานอยาก อันเป็นตัวสมุทัยตามคำสอนของพระพุทธเจ้า
๕. การตรวจสอบข้อเท็จจริง หลวงพ่อปราโมทย์ได้กราบเรียนถามเรื่องนี้จากท่านเจ้าคุณพระราชวรคุณ ผู้อยู่ใกล้ชิดหลวงปู่มาหลายสิบปีว่า เหตุใดถ้อยคำที่เรียบเรียงให้หลวงปู่พูด กับคำสอนที่หลวงปู่กล่าวขึ้นเองจึงแตกต่างกัน ทำให้ได้ทราบข้อมูลเบื้องลึกว่า เดิมหลวงปู่ไม่ได้สอนอริยสัจแห่งจิตอย่างที่มีการเรียบเรียงถวายให้ท่านพูด และท่านสอนเรียงลำดับตามพระพุทธเจ้าคือทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ต่อมาศิษย์ได้เรียบเรียงถ้อยคำถวายให้ท่านใช้ใหม่ ซึ่งไพเราะและสละสลวยกว่าเดิม ได้แก่อริยสัจแห่งจิตที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันนี้เอง
อนึ่งท่านเจ้าคุณได้อธิบายเพิ่มเติมว่า เหตุที่ต้องมีการเรียบเรียงถ้อยคำให้ท่านใช้บ้าง ต้องนำหนังสือของฮวงโปมาให้ท่านพิจารณาใช้บ้าง ก็เพราะหลวงปู่ไม่ชำนาญในด้านเทศนาโวหาร ทั้งที่ความรู้ของท่านมีมากมหาศาล แต่ไม่ถนัดในการถ่ายทอดออกมา
๖. หลวงพ่อปราโมทย์ไม่ได้แก้ไขคำสอนของครูบาอาจารย์ หลวงพ่อปราโมทย์เห็นด้วยว่า ในเวลาที่ใครจะพูดหรือเขียนเกี่ยวกับเรื่องอริยสัจแห่งจิต ก็ต้องยึดถือถ้อยคำตามที่มีการเรียบเรียงถวายหลวงปู่ไว้ เพราะเป็นถ้อยคำที่ท่านพูดอยู่เสมอว่า "จิตที่ส่งออกนอกเป็นสมุทัย" หลวงพ่อปราโมทย์เพียงแต่ต้องการบอกให้คนรุ่นหลังได้ทราบข้อมูลเบื้องลึกว่า เดิมหลวงปู่สอนอริยสัจแห่งจิตไว้อีกแบบหนึ่ง ซึ่งตรงกับคำสอนที่หลวงพ่อปราโมทย์ได้เรียนโดยตรงจากท่านที่ว่า "อย่าส่งจิตออกนอก เพราะการส่งจิตออกนอกเป็นสมุทัย" และสอดคล้องกับคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่า "สมุทัยเป็นสิ่งที่ควรละ และตัณหาคือความทะยานอยากเป็นสมุทัย" ทั้งนี้เพื่อความสมบูรณ์ของการศึกษาคำสอนของหลวงปู่ โดยเฉพาะในภายหน้าซึ่งสิ้นคนที่เคยศึกษาธรรมโดยตรงจากหลวงปู่ไปแล้ว และป้องกันคนรุ่นหลังจะไปหลงปรามาสว่าหลวงปู่สอนต่างจากพระพุทธเจ้า
๗. ความเห็นแย้งและความเห็นสนับสนุน เมื่อมีการพิมพ์หนังสือ "แก่นธรรมคำสอนของหลวงปู่ดูลย์" ออกมาแล้ว ได้เกิดความเห็นต่างกันเป็นสองฝ่าย โดยศิษย์ของหลวงปู่บางท่านเห็นว่า "ไม่ควรเขียนอธิบายคำสอนของหลวงปู่ ถึงหลวงปู่สอนผิดก็พูดไม่ได้" (ในขณะที่หลวงพ่อปราโมทย์ทราบว่าหลวงปู่สอนถูก แต่การเรียบเรียงถ้อยคำถวายให้ท่านใช้ต่างหากที่คลาดเคลื่อนไปบ้าง) ส่วนพระมหาเถระซึ่งเป็นศิษย์ชั้นผู้ใหญ่ที่สุดของหลวงปู่กลับเห็นว่า "การอธิบายคำสอนของหลวงปู่ครั้งนี้เป็นประโยชน์มาก เปรียบเหมือนการขุดคลองส่งน้ำจากทะเลสาบใหญ่ (หลวงปู่มีภูมิธรรมเปรียบดังทะเลสาบใหญ่ หลวงพ่อปราโมทย์เหมือนคนขุดคลอง) ให้ส่งน้ำไปใช้ประโยชน์ได้กว้างขวาง ทำให้คนรู้จักและได้รับประโยชน์จากคำสอนของหลวงปู่อย่างกว้างขวาง ยิ่งอธิบายได้ด้วยคำสอนของพระพุทธเจ้าก็ยิ่งเป็นประโยชน์มากขึ้นไปอีก" ท่านจึงปรารภกับพระเถระผู้เป็นศิษย์หลวงปู่อีกบางรูปว่า "สมควรใช้หนังสือเล่มนี้เป็นหลักในการสอนดูจิตให้เป็นมาตรฐานเดียวกันต่อไป"
เมื่อเกิดความเห็นต่างกันเป็นสองฝ่ายดังกล่าว หลวงพ่อปราโมทย์จึงให้เก็บหนังสือและงดการเผยแพร่ไว้ก่อน เพราะอาจก่อให้เกิดความกระเทือนใจระหว่างกันได้