คำชี้แจงของสวนสันติธรรม ฉบับที่ ๙
เรื่องข้อกล่าวหาบางเรื่อง
ตามที่มีผู้กล่าวติเตียนหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ในประเด็นต่างๆ หลายเรื่อง บางเรื่องสวนสันติธรรมได้แยกชี้แจงไว้ต่างหากแล้ว ส่วนกรณีที่ยังไม่ได้ ชี้แจง ก็ขอ ชี้แจง เป็นข้อๆ ดังนี้คือ
๑. การแสดงธรรมกระทบสำนักอื่นแทบจะทุกสำนัก ในลักษณะที่สื่อให้เห็นว่าการปฏิบัติของสำนักอื่นๆนั้นยังมีข้อบกพร่อง ยังไม่สมบูรณ์ ต้องเสริมด้วยวิธีของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
คำชี้แจง หลวงพ่อปราโมทย์ไม่เคยคิดจะแสดงธรรมเพื่อติเตียนแนวทางการปฏิบัติของสำนักอื่น แต่กล่าวเนืองๆ ว่า “ไม่มีวิธีการปฏิบัติแบบใดที่ดีที่สุดสำหรับทุกคนแม้แต่การดูจิต แต่มีวิธีการปฏิบัติที่เหมาะสมสำหรับแต่ละบุคคล” และ “ผู้ปฏิบัติพึงเลือกรูปแบบของวิธีการปฏิบัติที่เหมาะสมกับตนเอง วิธีใดทำแล้วเกิดสติ สมาธิ และปัญญาก็ใช้ได้ทั้งนั้น” สิ่งที่หลวงพ่อปราโมทย์ตั้งใจจะชี้ชวนให้เพื่อนนักปฏิบัติเห็นก็คือ ทำอย่างไรจะก้าวข้ามจากการติดเปลือกคือรูปแบบของการปฏิบัติ เพื่อให้เข้าถึงแก่นธรรมตามที่ครูบาอาจารย์ท่านต้องการสื่อ ซึ่งแต่ละสำนักล้วนแต่ดีๆ ด้วยกันทั้งนั้น
อย่างไรก็ตามหากคำพูดหรือการกระทำใดๆ ของหลวงพ่อปราโมทย์ จะทำให้ครูบาอาจารย์ของสำนักต่างๆ รู้สึกว่าถูกกระทบ หลวงพ่อปราโมทย์ก็ขอกราบขอขมามา ณ โอกาสนี้ด้วย
๒. มีการตัดต่อ ตัดตอน ลบ เก็บสื่อการสอนอยู่เป็นระยะๆ
คำชี้แจง การแสดงธรรมด้วยวาจากับผู้ฟังธรรมที่อยู่ต่อหน้า แตกต่างจากการเผยแพร่ธรรมทางสื่อ เพราะการแสดงธรรมที่ผู้ฟังนั่งอยู่เฉพาะหน้า หากมีประเด็นที่อธิบายยังไม่ชัดเจน หรือผู้ฟังมีข้อสงสัยประการใดก็สามารถสอบถามผู้แสดงธรรมได้ทันที จึงต่างจากการใช้สื่อที่ต้องพิถีพิถันตัดส่วนที่ไม่ชัดเจน ส่วนที่อาจมีประเด็นที่ต้องซักถามเพิ่มเติม หรือส่วนที่หากฟังไม่ดีก็อาจเข้าใจผิดได้ ออก เพราะผู้ฟังทางสื่อไม่มีโอกาสถามปัญหาข้อสงสัยใดๆ ได้
๓. มีการกล่าวหว่านล้อม โน้มน้าว ชักจูง ทำให้ผู้ฟังเข้าใจได้ว่า หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช บรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคลขั้นใดขั้นหนึ่งแล้ว รวมถึงเรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ต่างๆ
คำชี้แจง ในความเป็นจริงหลวงพ่อปราโมทย์ไม่ได้กระทำเช่นนั้น เพียงแต่บางคราวได้เล่าถึงการละกิเลสของพระอริยบุคคลแต่ละชั้น ซึ่งก็เป็นไปตามพระไตรปิฎก และบางทีก็บอกเล่าถึงสิ่งที่ครูบาอาจารย์ท่านเล่าให้ฟังมา ส่วนเรื่องอิทธิปาฏิหารย์ต่างๆ ที่ได้ยินได้ฟังหรือพบเห็นมา ก็เป็นเพียงส่วนเสริมเพื่อ “แก้เบื่อ” หรือ “แก้ง่วง” ของผู้ฟังธรรมเป็นครั้งคราวเท่านั้น ซึ่งวิธีการแสดงธรรมโดยเล่าเรื่องเช่นนี้ เป็นเรื่องปกติมาแต่ครั้งโบราณกาล แม้ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาก็มีเรื่องจำพวกนี้อยู่มาก อันเป็นการอนุเคราะห์แก่ผู้ฟังเท่านั้น สำหรับการที่ญาติโยมจะคาดเดาเอาว่าหลวงพ่อปราโมทย์บรรลุคุณธรรมขั้นใดนั้น หลวงพ่อปราโมทย์ก็ได้ปรามอยู่เนืองๆ ว่าไม่สมควรคิด เพราะในยุคนี้ไม่มีผู้ใดมีสิทธิพยากรณ์มรรคผลได้ ในเมื่อพระพุทธเจ้าไม่ได้ดำรงพระชนม์อยู่แล้ว จุดสำคัญที่หลวงพ่อปราโมทย์เน้น ไม่ใช่การ “ได้เป็น ได้มีอะไร” แต่อยู่ที่การ “ละกิเลสได้” เท่านั้น
๔. แก่นการสอนของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ใช้การทักวาระจิต ทายใจเป็นหลัก และเป็นการใช้อย่างสม่ำเสมอ ในทุกคราวของการแสดงธรรมทำให้เกิดการเสพติดของนักปฏิบัติ และเป็นวิถีทางการปฏิบัติแบบใหม่ ที่ผู้ปฏิบัติเพื่อแสวงหาทางพ้นทุกข์จำนวนมาก ไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งหลวงปู่ดูลย์ อตุโล ก็ไม่อนุญาตให้พระลูกศิษย์รูปใดกระทำเช่นนั้น และการบอกสภาวะของหลวงพ่อปราโมทย์ก็ผิด พึ่งพาอะไรไม่ได้
คำชี้แจง
๔.๑ ผู้ตั้งประเด็นไม่เข้าใจว่าอะไรคือแก่น และอะไรคือวิธีการ จึงไม่เคยเข้าใจหลวงพ่อปราโมทย์อย่างที่ผู้คนอีกมากมายเข้าใจกัน
๔.๒ แท้จริงแก่นคำสอนของหลวงพ่อปราโมทย์คือการเจริญไตรสิกขา (ศีล สมาธิและปัญญา) แต่ต้องเจริญด้วยความมีสติกำกับตลอดสายของการปฏิบัติ ซึ่งการที่บุคคลจะเกิดสติได้เนืองๆ จะต้องจดจำลักษณะเฉพาะ(วิเสสลักษณะ)ของรูปนามแต่ละอย่างได้แม่นยำ โดยการหัดรู้หัดดูสภาวะด้วยตนเองเนืองๆ ก็เมื่อศิษย์ที่หัดรู้หัดดูสภาวะแล้วเกิดความไม่แน่ใจ หรือจิตใจไปติดค้างอยู่กับสภาวะอย่างหนึ่งอย่างใด ก็ชอบที่ครูบาอาจารย์จะเมตตาอนุเคราะห์ชี้แจงให้ทราบเมื่อจำเป็น
๔.๓ แม้ในสมัยที่หลวงพ่อปราโมทย์ศึกษาธรรมอยู่กับครูบาอาจารย์ ท่านก็บอกสภาวะที่หลงไปติดไปข้องให้เช่นกัน เช่นหลวงปู่สิมเคยเตือนหลวงพ่อปราโมทย์ไม่ให้ติดอยู่กับอารมณ์ภายในที่ละเอียด โดยที่ไม่ต้องถามอะไรท่านเลย และท่านอาจารย์พระมหาบัว เคยเตือนว่า” ที่ว่าดูจิตนั้น ตอนนี้ดูไม่ถึงจิตแล้ว” เป็นต้น ดังนั้นการที่ครูบาอาจารย์แนะนำในเรื่องของสภาวะ จึงไม่ใช่เรื่องการปฏิบัติแบบใหม่อย่างที่ผู้ตั้งประเด็นเข้าใจผิด
๔.๔ ศิษย์ของหลวงพ่อปราโมทย์มีจำนวนมากมาย ส่วนใหญ่อาศัยเพียงการอ่านหนังสือหรือฟัง CD แต่สามารถปฏิบัติจนเห็นผลความเปลี่ยนแปลงทางจิตใจได้ด้วยตนเอง โดยไม่มีโอกาสถามเรื่องสภาวะหรือสิ่งใดจากหลวงพ่อปราโมทย์เลย และแม้คนที่มีโอกาสถาม หากถามเพราะเสพติดก็จะถูกหลวงพ่อปราโมทย์กระหนาบทันที เนื่องจากหลวงพ่อปราโมทย์เน้นการพึ่งตนเองเป็นหลัก และไม่ชอบให้ศิษย์เคลิบเคลิ้มติดอยู่กับสิ่งหนึ่งสิ่งใดแม้กระทั่งองค์ท่าน อนึ่งถ้าสังเกตให้ดี เราจะพบนักเสพติดครูบาอาจารย์อยู่ในสำนักปฏิบัติธรรมทั่วไป ดังนั้นการจะติดหรือไม่ จึงอยู่ที่ความเข้มแข็งหรืออ่อนแอทางจิตใจของแต่ละคนเป็นสำคัญ ไม่ได้เสพติดเฉพาะการมาคอยถามสภาวะจากหลวงพ่อปราโมทย์เท่านั้น
๔.๕ ไม่เฉพาะหลวงปู่ดูลย์ที่ไม่อนุญาตให้ลูกศิษย์ดูจิตผู้อื่น ถึงหลวงพ่อปราโมทย์ก็เจริญรอยตามหลวงปู่ดูลย์เช่นกัน เพราะได้ย้ำเตือนอยู่ตลอดเวลาว่าให้ดูจิตตนเอง แม้แต่ “ผู้ที่ออกประกาศตั้งข้อติเตียนหลวงพ่อปราโมทย์ในคราวนี้” ก็เคยถูกหลวงพ่อปราโมทย์ห้ามปรามมาแล้วว่าอย่าดูจิตผู้อื่น ซึ่งเป็นเรื่องที่มีพยานรู้เห็นอยู่หลายคน
๔.๖ หลวงพ่อปราโมทย์บอกสภาวะผิดหรือถูก เจ้าตัวย่อมรู้ด้วยตนเอง แต่มีความจริงอยู่อย่างหนึ่งคือ บางสิ่งที่ครูบาอาจารย์บอกนั้น บางคราวต้องใช้เวลาอีกหลายวัน หลายเดือน หรือหลายปี จึงจะเห็น หรือทำตามที่ครูบาอาจารย์บอกได้
๕. แนวทางการสอนของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ไม่มีขั้นตอนการปฎิบัติที่ชัดเจน จึงต้องอาศัยการถามตอบเป็นหลักนั้น ทำให้ไม่มีมาตรฐานทางธรรม เกิดความฟุ้งซ่านขึ้นกับผู้ปฎิบัติ
คำชี้แจง
๕.๑ แนวคำสอนของหลวงพ่อปราโมทย์มีขั้นตอนการปฏิบัติที่ชัดเจน คือหลักไตรสิกขา และมีเหตุมีผลในทุกประเด็น ทำให้ผู้ที่มีใจเปิดกว้างสามารถยอมรับคำสอนได้เร็วและแม่นยำ และเกิดความศรัทธาในพระพุทธศาสนาว่าเป็นศาสนาที่สมบูรณ์ด้วยเหตุผล สำหรับการแสดงธรรมแม้ในครั้งพุทธกาล พระพุทธเจ้าก็ทรงใช้วิธีถามตอบอยู่บ่อยครั้ง จนผู้ฟังเข้าใจหลักการและวิธีการแจ่มแจ้งแล้วจึงไปลงมือปฏิบัติ และมีหลายต่อหลายกรณีที่ท่านใช้การถามตอบปัญหา จนผู้ฟังบรรลุมรรคผลได้
๕.๒ สำหรับผู้ที่ถามปัญหา เขาย่อมรู้สึกว่าเขาจำเป็นจะต้องถาม จึงไม่ควรไปตำหนิว่าเขาฟุ้งซ่าน ส่วนบางคนที่ถามด้วยความฟุ้งซ่านจริงๆ หลวงพ่อปราโมทย์ก็ไม่ตอบคำถามอันไม่เกิดประโยชน์ต่อการปฏิบัตินั้น
๕.๓ ที่ว่าหลวงพ่อปราโมทย์สอนไม่มีมาตรฐานทางธรรมนั้น ยังไม่ชัดเจนว่าคำว่า “มาตรฐานทางธรรม” หมายความว่าอย่างไร แต่สวนสันติธรรมเห็นว่าคำสอนของหลวงพ่อปราโมทย์มีมาตรฐาน เพราะพยายามให้สอดคล้องกับพระปริยัติธรรมมากที่สุด
๖. คำตอบที่ได้จากหมู่ผู้สอนที่ได้รับมอบหมายจากหลวงพ่อปราโมทย์ให้สอน ก็ขัดแย้งกันเอง จนนำมาซึ่งความสับสน เหนื่อยหน่าย เสื่อมความเพียรในการมุ่งหน้าเข้าสู่การปฎิบัติที่แท้จริง ขาดศรัทธาและความเชื่อมั่นต่อศักยภาพของตนเอง ในการจะปฎิบัติธรรมให้ได้ผล
คำชี้แจง
๖.๑ การสอนกรรมฐานนั้น ไม่มีครูบาอาจารย์องค์ใด ท่านใด หรือผู้ช่วยสอนคนใดที่ได้รับมอบหมายจากหลวงพ่อปราโมทย์ ที่จะสอนเหมือนกันทุกอย่าง เพราะจริตนิสัยและประสบการณ์การปฏิบัติของอาจารย์แต่ละท่านย่อมจะแตกต่างกัน เช่นหลวงปู่ดูลย์เน้นให้ดูจิต ในขณะที่ครูบาอาจารย์อีกหลายองค์เน้นให้ดูกาย ดังนั้นผู้เรียนจึงต้องเลือกอาจารย์ให้เหมาะกับตนเอง การเรียนกับหลายอาจารย์จนเกิดความสับสนแล้วจะบ่นว่าอาจารย์สอนต่างกัน จึงเป็นความบกพร่องของผู้เรียนเอง ไม่ใช่ความบกพร่องของอาจารย์ ด้วยเหตุนี้เองหลวงพ่อปราโมทย์จึงบอกอยู่เสมอว่า จะเรียนอย่างใดก็เอาสักอย่างหนึ่ง มิฉะนั้นจะเอาดีไม่ได้เลย
๖.๒ ผู้ศึกษาธรรมแนวหลวงพ่อปราโมทย์อย่างแท้จริงจำนวนมาก จะเกิดความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นจนตนเองและผู้แวดล้อมรู้สึกได้ ความทุกข์ในชีวิตลดลง มีความสุข และเห็นผลการปฏิบัติด้วยตนเองจนเกิดศรัทธาแน่นแฟ้นในพระพุทธศาสนา อันนำไปสู่ความมีฉันทะที่จะพากเพียรปฏิบัติธรรมให้ดียิ่งขึ้นต่อไป ส่วนบางคนที่ไม่ชอบใจแนวทางที่หลวงพ่อปราโมทย์สอน ก็สามารถเปลี่ยนไปปฏิบัติในแนวทางอื่นได้เสมอ เพราะเป็นไปไม่ได้อยู่แล้วที่ทุกคนที่ศึกษาแนวทางนี้จะได้ผลเท่ากันทุกคน
๗. หลวงพ่อปราโมทย์ดูแคลนแนวทางการปฎิบัติที่ทำความเพียรในรูปแบบ และข้อวัตรปฎิบัติต่างๆ ของครูบาอาจารย์ต่างสำนัก ทำนองว่าเป็นทุกขาปฎิปทา ไม่เหมาะกับปัญญาชนคนเมือง ทำให้ล่าช้า สู้การทำความเพียรด้วยการฟังซีดีของท่านบ่อย ๆ ไม่ได้ นอกจากนั้น ท่านยังไม่ส่งเสริมการสวดมนต์ การทำวัตรเช้าเย็น ซึ่งถือว่าขัดแย้งโดยสิ้นเชิงกับปฏิปทาของครูบาอาจารย์ ยังมีข้อวัตรต่างๆ ที่ท่านละเลย เช่น การบิณฑบาตร เป็นต้น
คำชี้แจง
๗.๑ ผู้ตั้งประเด็นคงไม่เคยฟังคำสอนของหลวงพ่อปราโมทย์ จึงไม่ทราบว่า หลวงพ่อปราโมทย์เน้นให้ทำความเพียรตามรูปแบบ หรือแม้กระทั่งการทำสมถกรรมฐาน เพียงแต่บางคนที่ทำความสงบแบบเคร่งเครียดหรือติดความซึมเซาเท่านั้น ที่จะให้หยุดการทำสมถกรรมฐานไว้ชั่วคราวก่อน เมื่อตั้งสติได้แล้ว ก็ต้องกลับมาทำใหม่
๗.๒ หลวงพ่อปราโมทย์ไม่ได้ดูแคลนผู้ที่มีทุกขาปฏิปทา และทุกขาปฏิปทาก็ไม่ได้เกี่ยวกับการเป็นคนเมืองหรือคนชนบท แต่เกี่ยวกับระดับความรุนแรงของกิเลสของบุคคลนั้น
๗.๓ หลวงพ่อปราโมทย์ไม่เคยกล่าวว่าการฟัง CD คือการทำความเพียร แต่กล่าวว่าการทำความตั้งมั่นของจิต และการมีสติรู้รูปนามตามความเป็นจริงต่างหาก คือการทำความเพียร
๗.๔ หลวงพ่อปราโมทย์ส่งเสริมการทำวัตรสวดมนต์ ทั้งในสวนสันติธรรมและทั้งผู้ปฏิบัติที่อยู่ตามบ้าน เพียงแต่ไม่เน้นการสวดมนต์พร้อมกันเท่านั้น ซึ่งวัดกรรมฐานหลายแห่งก็ใช้หลักการอันนี้ เพื่อไม่ให้ผู้ปฏิบัติต้องคลุกคลีกันมาก แต่ให้ปลีกตัวเร่งความเพียรให้เต็มที่ตามอัธยาศัย สำหรับเรื่องการออกบิณฑบาตนั้น สวนสันติธรรมได้มีคำชี้แจงไว้ต่างหากแล้ว
๘. การดูจิตในชีวิตประจำวันไปเลย โดยละเลยการปฏิบัติในรูปแบบ และการทำสมถะซึ่งเป็นพื้นฐานที่ก่อให้เกิดความตั้งมั่นของจิต ทำให้ไม่มีกำลังที่จะใช้ดูจิต ถูกอารมณ์ลากพาไป ซึ่งครูบาอาจารย์สำนักต่างๆ หลายสำนัก ล้วนมีความเห็นตรงกันว่า การทำสมถะมีความจำเป็นสำหรับทุกคน มิใช่บางคนเท่านั้น
คำชี้แจง
๘.๑ หลวงพ่อปราโมทย์เน้นอยู่ตลอดเวลาว่า ต้องรู้อารมณ์ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง และเน้นทั้งการเจริญสติในชีวิตประจำวันและการทำตามรูปแบบ
๘.๒ ส่วนที่ว่าครูบาอาจารย์หลายสำนัก เน้นว่าการทำสมถกรรมฐานจำเป็นสำหรับทุกคนนั้น ก็น่ารับฟังไว้ ในขณะที่ครูบาอาจารย์บางสำนัก ไม่ให้ทำสมถกรรมฐานเลยก็มี ส่วนหลวงพ่อปราโมทย์จะสอนแบบผสมผสาน คือใครควรทำสมถกรรมฐานก่อนก็ทำ ใครควรหัดเจริญสติไปก่อนก็ทำ แต่สุดท้ายก็ต้องมีทั้งความสงบและปัญญา แต่เพียงระดับความลึกของความสงบไม่เท่ากันเท่านั้น
๙. เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างหลวงพ่อมนตรีและหลวงพ่อปราโมทย์
คำชี้แจง สวนสันติธรรมได้ชี้แจงข้อเท็จจริง ในคำชี้แจงที่ออกไปก่อนหน้านี้แล้ว
๑๐. หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช มีปฏิปทาสวนทางกับพระพุทธวจนะ ว่าด้วยการพยากรณ์อริยะผล ซึ่งเป็นวิสัยขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น เป็นที่รับทราบกันดีว่ามีการพยากรณ์โสดาปัตติผลให้แก่ลูกศิษย์จำนวนอย่างน้อย ๖ ราย
คำชี้แจง หลวงพ่อปราโมทย์ไม่เคยพยากรณ์อริยผลให้ผู้หนึ่งผู้ใด และกล่าวอยู่เนืองๆ ว่า “เอกสิทธิ์ในการพยากรณ์มรรคผลเป็นของพระพุทธเจ้าเท่านั้น” อย่างมากก็ยอมรับว่าบุคคลผู้นั้นมีความเข้าใจธรรมะพอจะช่วยสอน หรือพอจะปฏิบัติด้วยตนเองต่อไปได้เท่านั้น
สวนสันติธรรมเห็นว่า กลุ่มผู้ตั้งประเด็นโจมตีหลวงพ่อปราโมทย์ควรศึกษาสิ่งที่หลวงพ่อปราโมทย์สอนให้เข้าใจถ่องแท้เสียก่อน มิฉะนั้นจะกลายเป็นการด่วนตัดสินผู้อื่นด้วยความรู้สึกแทนข้อเท็จจริง
หมายเหตุ ประกาศเมื่อวันที่ ๒๐ ม.ค. ๒๕๕๓
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มกราคม 20, 2010, 10:52:20 pm โดย สุรวัฒน์ »