คัดส่วนหนึ่งลอกมาจาก
เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๔๙
ตั้งได้จิตขอให้มีหลักเกณฑ์เถอะ
ฉบับเต็มอ่านได้ที่
เพราะไม่มีงานอะไรมีแต่งานภาวนาอย่างเดียว แล้วอยู่คนเดียวเสียด้วย เอาละที่นี่พิจารณาลงตัวแล้ว คือจะเป็นเพราะขาดคำบริกรรม สติอาจจะขาดไปตรงนั้นก็ได้จิตถึงได้มีเวลาเสื่อมได้คราวนี้จะเอาคำบริกรรมให้ติดกับจิต และสติให้ติดแนบอยู่กับคำบริกรรมไม่ยอมให้เผลอเลย เอา ทีนี้มันจะเสื่อมไปทางไหนให้รู้กันตรงนี้ พอลงใจแล้วก็เอาละที่นี่ แต่มันจริงจังมากนะเรา เหมือนระฆังดังเป๋งนี้ต่อยกันแล้วนักมวย คำบริกรรมกับคำไม่ให้เผลอ พอเอาละที่นี่ระฆังเป๋งก็ใส่ปุ๊บเลย ไม่ให้เผลอ ตั้งแต่เริ่มปั๊บไม่ให้เผลอเลย ทั้งวันไม่ยอมให้เผลอไปไหน ให้อยู่กับคำบริกรรมคือพุทโธ เราชอบพุทโธ ติดอยู่กับคำบริกรรม โลกนี้เหมือนไม่มี มีแต่คำบริกรรมติดกับหัวใจอยู่อย่างนั้นตลอดทั้งวัน
มันอยากคิดอยากปรุงนี้เหมือนอกจะแตกนะ ถึงรู้ได้ชัดว่าสังขารนี้สำคัญมากมันดันออกมา สังขารเป็นสังขารสมุทัย อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สังขารสมุทัยมันดันออกอยากคิด พอมันคิดมันปรุงมันไปกว้านเอาฟืนเอาไฟมาเผาเรา นั่นละเสื่อมตรงนั้น ทีนี้ไม่ยอมให้คิด มันอยากจะคิดอกจะแตก เอ้า แตก ไม่ยอมให้คิดเลย ให้คิดแต่คำว่าพุทโธอันเป็นงานของธรรมเท่านั้น วันแรกเหมือนอกจะแตก วันหลังรู้สึกจะเบาลง แต่ไม่เผลอเหมือนกัน ความเผลอไม่ให้มีเลย ทั้งวันนี้ไม่ให้เผลอเลย ทุกข์มากไหม ตั้งสติไม่ให้เผลอทั้งวันไปเลยเชียว เรื่องเผลอไม่ให้เผลอเลย กี่วันก็ตามไม่ให้เผลอ
พอสามวันไปแล้วค่อยอ่อน ความดันอยากปรุงอยากคิดอะไรนี้ค่อยอ่อนลงๆ ๓-๔ วัน ๕ วัน ทีนี้สงบ นั่น ทีนี้เปลี่ยนละที่นี่เป็นใจสงบละ เรื่องสังขารไม่กวน สังขารความคิดความปรุงไม่กวน ต่อไปจิตก็ค่อยก้าวขึ้นๆ ละเอียดเข้าไปๆ จนกระทั่งไปถึงที่ที่มันเคยเสื่อม มันจะเสื่อมที่นี่ เอ้าๆ เสื่อมไปบอกเลย ได้หักห้ามกันพอแล้ว ยังไงมันก็ไม่อยู่คราวนี้ปล่อยเลย เอา อยากเสื่อมเสื่อมไป แต่คำบริกรรมกับสตินี้จะไม่ยอมปล่อย มันจะเสื่อมที่ตรงไหนให้รู้กัน พอไปถึงนั้นแล้วก็ปล่อยเลย แต่พุทโธกับสติไม่ยอมปล่อย
พอถึงนั้นแล้วจะเสื่อม เอ้า เสื่อม พอถึงขั้นมันแล้วนะ ถึงนั่นแล้วมันจะเสื่อม ทุกครั้งๆ เป็นอย่างนั้น ทีนี้ปล่อยเลย เอ้าๆ เสื่อมไป แต่คำบริกรรมกับสตินี้จะไม่ยอมปล่อย ติดกับคำบริกรรมเลยพอไปถึงนั้นแล้วว่ามันจะเสื่อมไม่ห่วงใย ปล่อยเลย เอ้า จะเสื่อมให้เสื่อมไป พอถึงนั้นแล้วทีนี้ไม่เสื่อมนะ เอ้า เสื่อมบอกเลย มึงอยากเสื่อมมึงเสื่อมไป กูไม่ยอมเสื่อมกับคำบริกรรมกับสติซัดขึ้นไป ทีนี้ไม่เสื่อม แล้วขึ้นไปเรื่อยๆ แทนที่ไปถึงนั้นแล้วจะลงไม่ลง ขึ้นเรื่อยๆ ขึ้นไปจนกระทั่งจิตแนบสนิทๆ จนกระทั่งที่ว่าจิตเรานี้ภาวนาๆ พุทโธๆ อยู่นี้ เวลาจิตละเอียดจิตอิ่มตัวแล้วคำว่าพุทโธหายนะ พอไปถึงนั้นแล้วพุทโธหายเงียบเลย ปรุงไม่ขึ้น คิดอะไรก็ไม่มี เหลือแต่ความรู้ที่ละเอียดแน่วกับสติ
อ้าว ทำไมเป็นอย่างนี้ล่ะ สงสัยนะ ก็พุทโธๆ ติดกันมาตลอดตั้งแต่วันตั้งคำบริกรรม แล้วนี้มันหายไปไหนเงียบเลย ตั้งไม่ขึ้น จิตมันละเอียดเต็มที่ เรียกว่ามันอิ่มตัว อิ่มคำบริกรรมเข้าพัก พูดง่ายๆ พัก ไม่ปรุงอะไรเลย คิดอะไรก็ไม่ออก อย่าว่าแต่พุทโธ จะคิดเรื่องใดก็ไม่ออก หมดความปรุง เอ้า อยู่นี้ก่อน คำว่าหมดคำบริกรรมนี้จิตมันละเอียดนะ ให้สติจับอยู่กับนั้น จับอยู่กับความรู้ที่ละเอียด ส่วนสตินี้ไม่ให้เผลอ ทีนี้พอมันได้จังหวะนี้มันก็คลี่คลายออกมา คือจิตสงบเหมือนเราตื่นนอน พอมันคลี่คลายออกมานึกคำบริกรรมได้ นึกพุทโธได้พุทโธต่อเรื่อยเลย
ทีนี้ก็เลยรู้จักวีธี พอถึงขั้นจิตอิ่มตัวจิตสงบมันจะปล่อยคำบริกรรม นึกก็ไม่ออก ปล่อยเสียเวลานั้น แต่ความรู้นั้นกับสติให้ติดกันไปเรื่อย มันเลยไม่เสื่อม นี่ละวิธีการปฏิบัติต้องทดสอบตัวเอง นี่เราได้ทดสอบอย่างนั้น แล้วก็ไม่เสื่อมตั้งแต่นั้นมาเรื่อยเลย ไม่เสื่อม ขาดสตินี่จับได้ชัดเจน อ๋อ สติสำคัญมาก พอขาดสติจิตเสื่อมได้ๆ เมื่อไม่ขาดสติแล้วไล่มันเสื่อมมันก็ไม่เสื่อม เราเป็นแล้วนี่ จึงบอกว่า เอ้า เสื่อมไป อยากเสื่อมไปไหนเสื่อม เราหึงหวงห่วงใยมันพอแล้วมันไม่ได้ฟังเสียงเรา คราวนี้ปล่อยเลย เอ้า เสื่อม แต่คำบริกรรมกับสติจะไม่ยอมปล่อย มันก็เลยได้กับอันนี้ไปเรื่อยๆ เจริญเรื่อย นี่เราพูดแต่ต้นไปถึงขั้นไม่เสื่อม ทีนี้ก้าวหน้าละที่นี่ เรียกว่าตั้งรากตั้งฐานได้เพราะสติดี
ข้อสังเกตุ
- 1.ใครกันชอบสอนว่า สติตัวจริงมาเอง ห้ามจงใจรู้?
- 2.ใครกันชอบสอนว่าทุกอย่างเป็นอนัตตา สติเป็นอนัตตา สมาธิเป็นอนัตตา? ถ้าเป็นอนัตตา เราจะทำมันขึ้นมาได้ไหม สมาธิ ในเมื่อมันไม่ใช่ตัวเรา ทำไมเราบังคับให้มันเป็นสมาธิได้ พวกที่บอกบังคับไม่ได้ เพราะทำไม่ได้ ทำไม่เป็นมากกว่า ไม่ใช่มันไม่สามารถทำได้ สติสมาธิ ตกอยู่ในกฏของอนิจจัง เพราะเราไม่สามารถบังคับให้มันอยู่ตลอดไปได้
- 3.ใครกันชอบบอกว่าดูจิตๆ แต่แค่ไปเห็นอาการของจิต จิตอยู่ตรงไหน?