ภิกษุมหาโจร โดย ดนัย จันทร์เจ้าฉาย อดีตกรรมการสวนสันติธรรม (มีนาคม ๒๕๕๓)


ภิกษุมหาโจร 
รายงานโดย :ดนัย จันทร์เจ้าฉาย 


    วันก่อนได้มีโอกาสสนทนาธรรมกับครูบาอาจารย์หลายรูป อาทิ ท่านเจ้าคุณพระศรีญาณโสภณ วัดพระรามเก้ากาญจนาภิเษก พระอาจารย์มานพ อุปสโม ศูนย์ปฏิบัติธรรมเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษาราชนครินทร์ เขาดินหนองแสง จันทบุรี 

    พระอาจารย์ ว. วชิรเมธี สถาบันวิมุตตยาลัย ตลอดจนครูบาอาจารย์สายวัดป่าที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัย ต่างแสดงความห่วงใยในความมั่นคงของพระศาสนา เนื่องด้วยชาวพุทธจำนวนหนึ่งกำลังสนใจในเรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ความสามารถที่เหนือมนุษย์ในการทำนายทายทักและพยากรณ์ลูกศิษย์คนใกล้ชิด ตลอดจนตัวผู้เผยแผ่คำสอนว่าเป็นผู้ที่เข้าสู่กระแสการเป็นอริยบุคคล 

    บางคนได้รับการทำนายทายทักว่าได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน หรือตำแหน่งที่สูงกว่า ก็เกิดทิฐิมานะ และนำมาซึ่งลาภสักการะ รวมถึงความยึดติดต่อผู้ทำนายทายทักโดยไม่รู้ตัว 

    เพื่อเป็นการให้แสงสว่างแก่ชาวพุทธว่าสิ่งใดถูกต้องตามพระธรรมวินัยที่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่าจะเป็นพระศาสดา เป็นหลักสำคัญแก่พุทธบริษัทสี่หลังจากที่พระพุทธองค์เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้ว ท่าน ว. วชิรเมธี ได้เมตตายกบทบัญญัติในวินัย จากหนังสือพุทธธรรม หน้า 440 เรียบเรียงโดย พระพรหมคุณาภรณ์ ป.อ.ปยุตฺโต ดังนี้ 

    ... มีพุทธบัญญัติไม่ให้ภิกษุอวดอุตริมนุษยธรรม คือ คุณวิเศษหรือการบรรลุธรรมอย่างสูงที่เกินปกติของมนุษย์สามัญ เช่น สมาธิ าน สมาบัติ มรรคผล ถ้าอวดโดยที่ตนไม่มีคุณวิเศษนั้นจริง คือหลอกเขา ย่อมต้องอาบัติปาราชิก ขาดจากความเป็นภิกษุ (วินย.1/227-231/165-171) แต่ถึงแม้ว่าจะได้บรรลุคุณวิเศษนั้นจริง ถ้าพูดอวดหรือบอกกล่าวแก่ชาวบ้าน หรือผู้อื่นใดที่มิใช่ภิกษุหรือภิกษุณีก็ไม่พ้นเป็นความผิด เพียงแต่เบาลงมา เป็นอาบัติปาจิตตีย์ (วินย. 2/304-5/208-211) 

    ต้นเหตุที่มีพุทธบัญญัตินี้ เกิดจากในคราวทุพภิกขภัย ภิกษุพวกหนึ่ง คิดหาอุบายจะให้พวกตนมีอาหารฉันโดยไม่ลำบาก จึงกล่าวสรรเสริญกันและกันให้ชาวบ้านฟังตามที่เป็นจริงบ้าง ไม่จริงบ้าง ว่าท่านรูปนั้นได้าน ท่านรูปนั้นเป็นโสดาบัน ท่านรูปนั้นเป็นพระอรหันต์ ท่านรูปนั้นได้อภิญญา 6 เป็นต้น ชาวบ้านเลื่อมใสพากันบำรุงเลี้ยงภิกษุกลุ่มนั้นอย่างบริบูรณ์ เมื่อพระพุทธเจ้าทรงทราบจึงทรงบัญญัติสิกขาบทขึ้นห้าม โดยทรงติเตียนว่าไม่สมควรที่จะอวดอ้างคุณความดีพิเศษกันเพราะเห็นแก่ท้อง และสำหรับผู้ที่อวดอ้างโดยไม่เป็นจริง ทรงติเตียนอย่างรุนแรงว่าเป็นมหาโจรที่เลวร้ายที่สุดในโลก เพราะบริโภคอาหารของชาวบ้านชาวเมืองโดยฐานขโมย 

    พุทธบัญญัติอีกข้อหนึ่ง ในจำพวกห้ามอวดอุตริมนุษยธรรม คือ สิกขาบทที่มิให้ภิกษุแสดงอิทธิปาฏิหาริย์แก่ชาวบ้าน ภิกษุใดแสดงภิกษุนั้นมีความผิด ต้องอาบัติทุกกฎ ต้นเหตุเกิดจากเศรษฐีท่านหนึ่ง เอาบาตรไม้จันทน์แขวนไว้ที่ปลายไม้ไผ่ แล้วประกาศท้าพิสูจน์ว่า ใครเป็นพระอรหันต์ มีฤทธิ์จริงก็ขอถวายบาตรนั้น แต่ให้เหาะไปเอาลงมาเอง พระปิณโฑลภารัทวาชะได้ยินคำท้า ประสงค์จะรักษาเกียรติของพระศาสนา จึงเหาะขึ้นไปเอาบาตรลงมา ทำให้ชาวเมืองตื่นเต้นเลื่อมใสกันมาก พระพุทธเจ้าทรงทราบจึงทรงบัญญัติสิกขาบทห้าม โดยทรงตำหนิว่า ไม่สมควรแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ ซึ่งเป็นธรรมล้ำสามัญมนุษย์ เพราะเห็นแก่บาตรที่เป็นของมีค่าต่ำ ทรงเปรียบการทำเช่นนั้นว่า เป็นเหมือนสตรีที่เผยอวัยวะพึงสงวนให้เขาดูเพราะเห็นแก่เงินทองของต่ำทราม 

    จากพุทธบัญญัตินี้ ชาวพุทธทั้งหลายพึงข้อสังเกตวิธีการสอนของผู้ประกาศตนว่าเป็นผู้เผยแผ่ธรรมของพระพุทธองค์ว่าเป็นไปตามพระธรรมวินัยหรือไม่ ทำไมผู้สอนบางท่านจึงอ้างถึงคุณวิเศษในการทำนายทายทักบุคคลอื่น พูดถึงเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์ซึ่งพิสูจน์ได้ยาก หรือพยากรณ์คุณธรรมของผู้อื่นว่าบรรลุธรรมขั้นใด ทั้งที่การพยากรณ์การเป็นอริยบุคคลนั้น เป็นพุทธวิสัย คือ เฉพาะพระพุทธองค์เท่านั้น 

    ครูบาอาจารย์สายวัดป่าทุกรูปล้วนมีปฏิปทาน่าเคารพยกย่อง มีจริยาวัตรและข้อวัตรปฏิบัติตามพระธรรมวินัย และตามรอยครูบาอาจารย์อย่างเคร่งครัด เราเป็นชาวพุทธแบบเถรวาท ความหมายคือ ยกย่องเทิดทูนเคารพบูชาครูบาอาจารย์ผู้เป็นพระเถระอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง ไม่ขัดแย้ง ไม่จาบจ้วง และไม่มีสิ่งใดด่างพร้อย การช่วยกันสอดส่องดูแลผู้เข้ามาอาศัยพระศาสนาและใช้ธรรมะของพระพุทธองค์บังหน้า จึงเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคน ที่จะช่วยกันลดจำนวนภิกษุมหาโจรให้น้อยที่สุด เพื่อความอยู่รอดปลอดภัยของพระพุทธศาสนา และความบริสุทธิ์ของพระธรรมต่อไป 


รายงานโดย :ดนัย จันทร์เจ้าฉาย 
วันอังคารที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2553 
บันเทิง - ไลฟ์สไตล์